ประเภทการจดทะเบียนธุรกิจ

725 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประเภทการจดทะเบียนธุรกิจ

ประเภทการจดทะเบียนธุรกิจ
      การจดทะเบียนธุรกิจแบ่งออกเป็น 1) การจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับบุคคลธรรมดา และ 2) การจดทะเบียนบริษัทสำหรับนิติบุคคล มีรายละเอียดดังนี้

1) การจดทะเบียนพาณิชย์ (สำหรับบุคคลธรรมดา)
      ผู้ที่เข้าข่ายจดทะเบียนพาณิชย์ ได้แก่ 
   บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล ที่ค้าขายออนไลน์ หรือเป็นตัวแทนขาย ผ่าน website, ระบบร้านค้าออนไลน์, Facebook 

   บุคคลธรรมดา ที่มีอาชีพค้าขาย และมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง 

      ทั้งนี้ การจดทะเบียนพาณิชย์เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีเจ้าของทำงานเพียงคนเดียว ขายสินค้าหรือบริการง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ข้อดีของการจดแบบนี้ คือ ผู้ประกอบการจะไม่มีภาระในการทำบัญชีหรือยื่นส่งงบ และมีอิสระในการดำเนินธุรกิจอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาจขาดความน่าเชื่อถือในระยะยาว หาพนักงานยาก ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคาร รวมไปถึงยังทำให้เจ้าของธุรกิจต้องมีภาระหน้าที่ทางกฎหมาย ในการรับภาระหนี้สินของธุรกิจแบบไม่จำกัด

2) การจดทะเบียนบริษัท (สำหรับนิติบุคคล)
      จะเหมาะสำหรับธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาระดับหนึ่ง หรือมีเจ้าของ/ผู้ลงทุนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยการจดทะเบียนบริษัทจะทำให้มี “บริษัท” มีสถานะเป็น “นิติบุคคล” ที่มีตัวตนตามกฎหมาย แยกต่างหากจากเจ้าของธุรกิจ เจ้าของบริษัทจึงเป็นอิสระจากการไล่เบี้ยหนี้สินของบริษัท(เจ้าของธุรกิจมีภาระการชำระค่าหุ้นให้ครบตามทุนที่จดทะเบียนบริษัทไว้เท่านั้น) อย่างไรก็ตาม บริษัทจะมีภาระหน้าที่แยกต่างหากจากเจ้าของ โดยบริษัทต้องจัดทำบัญชี, เสียภาษี, ยื่นประกันสังคมให้พนักงาน เป็นต้น 

      แม้การมีภาระหน้าที่ดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอยการรู้สึกยุ่งยาก แต่ข้อดีคือ อัตราภาษีเงินได้ของนิติบุคคลจะไม่เกิน 20% ของรายได้หักค่าใช้จ่าย (ซึ่งน้อยกว่าอัตราภาษีของบุคคลธรรมดาทีสูงสุดที่  35%) ทั้งนี้ การจดทะเบียนนิติบุคคลสามารถทำได้ 3 แบบ ดังนี้

ห้างหุ้นส่วนสามัญ
      การทำกิจการแบบห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญนั้น ใช้กับผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิจัดการกับกิจการ และแบ่งปันกำไรจากกิจการได้ แต่ก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบหนี้สินของกิจการอย่างไม่จำกัด ทั้งนี้ ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่ได้จดทะเบียน จะมีสภาพเป็นบุคคลธรรมดา

      แต่หากจดทะเบียน จะมีสภาพเป็นนิติบุคคลที่เรียกว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” โดยหุ้นส่วนทุกคนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินของกิจการ แบบ “ไม่จำกัดจำนวน” แต่อาจตกลงให้หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนได้  

ห้างหุ้นส่วนจำกัด
      ต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และต้องทำการจดทะเบียนนิติบุคคล โดยความรับผิดชอบของหุ้นส่วน จะแบ่งเป็นแบบ “จำกัด” และแบบ “ไม่จำกัด” ความรับผิดในหนี้สินของกิจการ   
   หุ้นส่วนผู้รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “จำกัด”: จะรับผิดในหนี้สินกิจการไม่เกินจำนวนเงินลงทุนของตน แต่หุ้นส่วนประเภทนี้ จะไม่มีสิทธิตัดสินใจในกิจการ แต่มีสิทธิที่จะสอบถามการดำเนินงานของกิจการได้
   หุ้นส่วนผู้รับผิดชอบในหนี้สินแบบ “ไม่จำกัด”: จะรับผิดในหนี้สินทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากกิจการ โดยจะมีสิทธิตัดสินใจต่างๆ ในกิจการได้อย่างเต็มที่ 

บริษัทจำกัด
     ต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยผู้ถือหุ้นทุกคนจะรับผิดชอบในหนี้สินกิจการแบบ “จำกัด” กล่าวคือ ผู้ถือหุ้นมีภาระเพียงแค่จะต้องชำระเงินทุนตามค่าหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น หากชำระครบแล้ว ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินที่เกิดขึ้นในกิจการอีก ด้วยการจำกัดความรับผิดนี่เองที่ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นิยมจดทะเบียนแบบบริษัทจำกัด ทั้งนี้ การจดทะเบียนเป็นบริษัทนั้นส่งผลดี ทั้งต่อความน่าเชื่อถือ, การสร้างระบบการบริหาร, การมีระบบบัญชี และเอื้อต่อการระดมทุน รวมทั้งขอสินเชื่อจากธนาคารมากกว่าการจดทะเบียนแบบอื่น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้