675 จำนวนผู้เข้าชม |
ประกันสังคม คืออะไร?
ประกันสังคม เป็นสวัสดิการที่ทางรัฐมอบให้แก่ลูกจ้าง โดยลูกจ้างและนายจ้างต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมาย โดยจะทำการหักเงินจากฐานเงินเดือน 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน เป็นการสร้างหลักประกันสังคมในการดำรงชีวิตของสมาชิกที่มีรายได้ ซึ่งประกันสังคมหรือระบบประกันสังคมนั้นมีมานานแล้วในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยพึ่งเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2480 อย่างไรก็ตามประเทศไทยเริ่มมีสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้บริการประกันสังคมอย่างเต็มรูปแบบเมื่อ 2 กันยายน พ.ศ. 2533 ในการคุ้มครองลูกจ้างจากการเจ็บป่วย ทั้งที่เกิดขึ้นจากการทำงานและนอกเหนือจากการทำงาน ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคมหลัก ๆ จะประกอบไปด้วย
ผู้ประกันตน
นายจ้าง
รัฐบาล
ผู้ประกันตนคือใครกัน?
คำว่า “ผู้ประกันตน” คือลูกจ้างหรือพนักงาน โดยผู้ประกันตนจะต้องเลือกสถานพยาบาลที่ตนเองสะดวก ซึ่งผู้ประกันตนจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน
ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างตามมาตรา 33 คือลูกจ้างหรือพนักงานประจำที่มีอายุมากกว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
ผู้ประกันตนที่สมัครใจตามมาตรา 39 คือบุคคลที่เลิกเป็นลูกจ้างประจำหรือลาออกจากงานและเคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาไม่ต่ำกว่า 12 เดือนแล้วลาออกมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ ซึ่งหากต้องการเป็นผู้ประกันตนต่อหลังจากลาออกจากงาน ผู้ประกันตนสามารถแจ้งกับสำนักงานภายใน 6 เดือน โดยจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
ผู้ประกันตนที่เป็นอิสระ ตามมาตรา 40 คือบุคคลที่ทำงานอิสระที่ไม่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 และมาตรา 39 มาก่อน โดยต้องมีอายุ 15 – 60 ปี
ทำไมเราต้องจ่ายเงินประกันสังคมทุก ๆ เดือน?
ตามที่กล่าวไปข้างต้นประกันสังคม คือหลักประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับการดำรงชีวิตของผู้ประกันตน ทั้งการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล การคลอดบุตร ทุพพลภาพ ว่างงาน สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และตาย ประกันตนจะทำให้ผู้ประกันตนได้รับการดูแลและการทดแทนรายได้ อย่างเช่นเมื่อผู้ประกันตนต้องการพบแพทย์ยามป่วยไข้ ก็สามารถใช้สิทธิประกันสังคมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมายที่ผู้ประกันตนจะได้รับ